
ทันตกรรมประดิษฐ์
เมื่อมีการสูญเสียฟันไป การใส่ฟันเพื่อทดแทนฟันที่สูญเสียไปเป็นสิ่งจำเป็น เพราะการปล่อยทิ้งช่องว่างไว้
จะทำให้เกิดการล้มเอียงของฟันข้างเคียงและฟันคู่สบเข้าสู่ช่องว่าง ส่งผลให้การเรียงตัวของฟันผิดปกติไป
ทำให้เกิดการสะสมคราบจุลินทรีย์และก่อให้เกิดฟันผุและเหงือกอักเสบง่ายขึ้น ส่งผลเสียต่อการบดเคี้ยวและสุขภาพช่องปาก
การใส่ฟันจะช่วยแก้ปัญหาในเรื่องของการบดเคี้ยว การพูดออกเสียงและช่วยเสริม บุคลิกภาพและความมั่นใจ
ให้กับผู้ป่วย ส่งผลให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น การใส่ฟันทดแทนฟันที่สูญเสียไป แบ่งออกได้เป็น
รากเทียม
การปลูกรากฟันเทียมเป็นการปลูกรากฟันไททาเนียมทดแทนรากฟันที่เสียไป วัสดุประเภทนี้ได้รับการศึกษาวิจัย
และทดสอบแล้วว่ามีความปลอดภัย ไม่เป็นอันตราย รากฟันเทียมจะทำหน้าที่เป็นฐานให้แก่ฟันที่จะสร้างขึ้นมาใหม่
โดยฟันที่จะสร้างขึ้นมาใหม่บนรากเทียมสามารถทำได้ทั้งแบบครอบฟัน, สะพานฟัน หรือฟันปลอมถอดได้
ข้อดีของการทำรากเทียม
ไม่ต้องทำการกรอฟันข้างเคียงเพื่อใช้เป็นที่ยึดติดของสะพานฟัน ในระยะยาวหากครอบฟันหรือสะพานฟันบนรากเทียม
มีความจำเป็นต้องได้รับการซ่อมแซมหรือแก้ไข ก็สามารถทำได้ง่ายด้วยการถอดครอบฟันหรือสะพานฟันออกก่อนทำการซ่อมแซมและใส่กลับเข้าไป เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาเรื่องการหลุดหรือหลวมของฟันปลอมในขณะพูดหรือรับประทานอาหาร
เสริมความมั่นใจและบุคลิกภาพของผู้ป่วย
ประเภทของรากเทียม
-
รากเทียมรองรับฟันเทียมแบบติดแน่น การปลูกรากเทียมประเภทนี้ จะทำในกรณีที่ผู้ป่วยมีการสูญเสียฟัน 1 ซี่ หรือ หลายซี่ หรือทั้งปาก โดยจะทำเป็นครอบฟันซี่เดียวสวมลงบนรากเทียม รากเทียมจะทำหน้าที่เป็นเสมือนรากฟันธรรมชาติ หรือทำเป็นสะพานฟัน โดยใช้รากเทียมเป็นตัวรองรับในกรณีที่มีการสูญเสียฟันไปจำนวนมาก ในกรณีที่มีการสูญเสียฟัน ไปทั้งปาก จะต้องทำการปลูกรากเทียมหลายตำแหน่งเพื่อเป็นหลักยึดให้ฟันเทียมติดแน่นทั้งปาก
-
รากเทียมรองรับฟันปลอมแบบถอดได้ จะทำในผู้ป่วยที่มีการสูญเสียฟันทั้งปาก โดยทำการปลูกรากฟันเทียมหลายตำแหน่งเพื่อเป็นฐานสำหรับตัวยึดกับฟันปลอมชนิดถอดได้
ครอบฟันและสะพานฟัน
ครอบฟัน คือ การครอบฟันหรือคลุมฟันที่ได้รับความเสียหายทั้งซี่ เพื่อบูรณะฟันให้มีความแข็งแรงและสามารถใช้งาน
ได้ตามปกติ โดยทันตแพทย์จะทำการบูรณะเนื้อฟันด้านในให้แข็งแรงก่อนด้วยวัสดุทางทันตกรรม แล้วทำการกรอลดขนาดของซี่ฟันลง ทำการพิมพ์ปากและนัดคนไข้กลับมาใส่ครอบฟันถาวรอีกครั้ง
เมื่อไหร่ควรทำครอบฟัน
-
เมื่อฟันผุ แตกหัก หรือ มีการเสียหายของเนื้อฟัน มากเกินกว่าจะบูรณะได้ด้วยการอุดฟัน เช่น มีการแตกหักและเสียหายของเนื้อฟันไปมากกว่าครึ่งหนึ่ง
-
เมื่อฟันได้รับการรักษาราก ฟันที่ได้รับการรักษารากมักจะมีเนื้อฟันเหลืออยู่น้อยและไม่แข็งแรง จึงควรได้รับการบูรณะด้วยการทำเดือยฟัน แกนฟันและครอบฟันเพื่อเพิ่มความแข็งแรงให้ตัวฟัน
-
ฟันร้าว
-
มีวัสดุอุดขนาดใหญ่มากและเริ่มมีการแตกหักของเนื้อฟันหรือวัสดุอุด
-
ฟันมีรูปร่างผิดปกติ หรือมีช่องห่างระหว่างฟัน ต้องการแก้ไขให้มีรูปร่างสวยงามขึ้น หรือทำการปิดช่องฟันห่าง
สะพานฟัน คือ การใส่ฟันแบบติดแน่นเพื่อทดแทนฟันที่สูญเสียไป โดยจะต้องมีฟันข้างเคียงต่อช่องว่างเหลืออยู่
เพื่อทำหน้าที่เป็นหลักยึดให้กับสะพานฟัน ขั้นตอนการทำสะพานฟันนั้นจะคล้ายกับการทำครอบฟัน โดยจะมีการกรอแต่งฟัน
ที่ต้องใช้เป็นหลักยึด จากนั้นทำการพิมพ์ปากและนัดคนไข้กลับมาใส่สะพานฟันในครั้งต่อไป
วัสดุทำครอบฟันและสะพานฟัน แบ่งออกเป็น 3 แบบ
-
โลหะล้วน มีทั้งแบบมีทองและไม่มีทองเป็นส่วนผสม ให้ความแข็งแรงได้ดี แต่อาจไม่ได้ในเรื่องของความสวยงาม เนื่องจากสีของครอบฟันจะเห็นเป็นโลหะสีเงินหรือสีทองอ่อน ๆ ในกรณีที่มีทองผสม
-
เซรามิคบนโลหะ ให้ความแข็งแรงได้ดี ใช้ในกรณีทั่ว ๆ ไป ชั้นในจะเป็นโลหะ มีให้เลือกทั้งแบบผสมทองและไม่ผสม ซึ่งราคาก็จะแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับปริมาณของทองที่ผสม ส่วนชั้นนอกเป็นเซรามิคซึ่งจะช่วยในเรื่องของความสวยงามและเป็นธรรมชาติ
-
เซรามิคล้วน ในปัจจุบัน วัสดุประเภทเซรามิคล้วนได้รับการพัฒนาจนมีความแข็งแรงคงทนสามารถรับแรงบดเคี้ยวในช่องปากได้ จะเลือกใช้ในกรณีที่ต้องการความสวยงามสูงสุด เช่น การทำครอบฟันบริเวณฟันหน้า เพราะจะไม่มีการสะท้อนสีโลหะเป็นสีเทาต่างจากการใส่ครอบฟันแบบมีโลหะ ครอบฟันเซรามิคล้วนนี้จะให้การสะท้อนแสงและสีของฟันออกมาเป็นธรรมชาติมากที่สุดเมื่อเทียบกับวัสดุอื่น จึงเหมาะกับผู้ป่วยที่ต้องการความสวยงามเป็นธรรมชาติสูงสุด
ฟันปลอมถอดได้
วัสดุที่ใช้ทำฟันปลอมถอดได้จะมีฐานที่ทำจากอะคริลิกและแบบโลหะ แบ่งออกเป็น
-
ฟันปลอมถอดได้เฉพาะซี่ ทำเพื่อทดแทนการสูญเสียของฟันบางตำแหน่ง จะใส่ฟันลงบนฐานอะคริลิกหรือฐานโลหะและมีส่วนของโลหะเป็นตะขอหรือตัวยึดเกาะลงบนฟันที่เหลืออยู่ในช่องปาก
-
ฟันปลอมถอดได้ทั้งปาก เป็นการทำฟันปลอมถอดได้ทั้งชิ้น โดยใช้อะคริลิกหรือพลาสติกเป็นฐานฟันปลอม สามารถทำการเสริมความแข็งแรงของฐานด้วยโลหะ